วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

หวัดเกิดจากอะไร




นพ.สมชาญ เจียรนัยศิลป์
รพ.นพรัตนราชธานี


ในความเป็นจริงแล้วโรคไข้หวัดก็เป็นโรคที่ป้องกันได้ และการดูแลรักษาก็ไม่ยากเลย หากเรามาทำความเข้าใจข้อเท็จจริง สักเล็กน้อยไข้หวัดเกิดจากอะไร
ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสที่ทำให้เกิดหรือมีอาการมีหลายตัว แต่อาการก็คล้าย ๆ กันหมดครับติดต่อกันได้อย่างไร
โรคหวัดเป็นโรคติดต่อ และเป็นโรคติดต่อได้ง่ายมาก สังเกตว่าเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ จะเป็นอยู่เรื่อย ๆ เพราะติดกันไปติดกันมา แถมนำมาติดคนที่บ้านอีก
วิธีการติดต่อก็โดยการไอ จามใส่กัน และที่สำคัญคือติดต่อทางมือครับ เมื่อมือไปแตะโดนเชื้อไวรัสจากคนอื่นเข้า แล้วมาขยี้จมูก ขยี้ตา (ตามีท่อต่อกับโพรงจมูกได้) ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อหวัดได้ ส่วนมากเราไม่ค่อยรู้ตัวหรอกครับว่าติดเมื่อใดติดจากใคร กว่าจะรู้สึกตัวคือเป็นไข้หวัดแล้วอาการของไข้หวัดเป็นอย่างไร
ไม่ต้องบอกก็คงจะทราบกันดีทุกคนนะครับ คงไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นโรคไข้หวัด อาการสำคัญคือ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เป็นไข้ เจ็บคอ แต่บางท่านอาจจะมีอาการไม่ครบตามที่ว่ามาก็ได้ และอาการมากน้อยต่างกัน ขึ้นกับเชื้อโรคและตัวของผู้ติดเชื้อหวัดเองครับ อาการส่วนใหญ่จะมีตั้งแต่ 2-7 วัน มีบางรายที่นานกว่านั้นรักษาโรคหวัดอย่างไรดี
โรคหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะหายเองครับ ไม่ต้องรักษาเลยก็หายเหมือนกัน เพียงแต่พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าหากอาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาแต่อย่างใด ถ้ามีอาการมากก็ใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ และยาบรรเทาอาการไอ ยาเหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปครับ สรรพคุณแต่ละยี่ห้อก็พอ ๆ กัน
แต่อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ไม่ได้ทำให้หวัดหายเร็วขึ้นหรอกครับ เพียงแต่บรรเทาอาการเท่านั้นเอง สรุปคือกินยาหรือไม่กินยาก็หายเร็วพอกันควรกินยาปฏิชีวนะไหม
โรคหวัดโดยทั่วไปอย่างที่บอกไว้เบื้องต้นแล้วว่าเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่ต้องกินยาปฏิชีวนะ หรือที่บางคนเรียกยาแก้อักเสบ นอกจากไม่เกิดผลดีแล้วยังทำให้เกิดผลเสียคือ ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยานั้น ๆ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยานั้นใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ผลอีกต่อไป ทำให้เราสูญเสียยาดี ๆ ราคาถูกไปอย่างน่าเสียดายเมื่อไหร่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ
เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียครับ โดยการสังเกตน้ำมูกและเสมหะ หากพบว่ามีสีเหลืองหรือสีเขียวก็ควรกินยาปฏิชีวนะสัก 5-7 วัน อาจจะเริ่มด้วยยาแอมพิซิลลิน (Ampicillin) หรืออะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) ก็ได้ครับ อีกกรณีหนึ่งก็คือมีภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดเกิดขึ้น ดังจะกล่าวถึงต่อไปครับควรฉีดยาดีไหม
ที่พบบ่อยคือ มีผู้ป่วยเป็นหวัดแล้วมาขอฉีดยาจำนวนมาก โดยมีความเข้าใจว่าฉีดยาแล้วไข้หวัดจะหายเร็ว หรือเคยไปรักษาที่คลินิกบางแห่งได้รับการฉีดยา เลยเข้าใจว่าไข้หวัดควรต้องฉีดยา ขอชี้แจงตรงนี้เลยว่าอันนี้ไม่จริงครับ ไม่ควรฉีดยาใด ๆ ทั้งนั้น ถ้าหากมีใครจะฉีดยาให้ก็ปฏิเสธไปตรง ๆ เลยครับ โดยเฉพาะเห็นเด็ก ๆ ถูกฉีดยา ร้องไห้กระจองอแง น่าสงสารครับ แถมกลายเป็นโรคกลัวหมออีกด้วย แค่พอเห็นหมอก็ร้องไห้ซะแล้วเมื่อไหร่ควรไปพบหมอ
ถ้าอ่านมาตั้งแต่ต้นจะพบว่า โรคไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องพบหมอเลย ทุก ๆ ท่านสามารถดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี พอ ๆ กับการรักษากับหมอ แต่มีบางครั้งที่จำเป็นต้องพบหมอ เพราะโรคไข้หวัดมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้เหมือนกัน โรคไข้หวัดที่มีลักษณะต่อไปนี้ ควรพบหมอ
1. เมื่อน้ำมูกและเสมหะสีเขียวเหลือง และได้ลองกินยาปฏิชีวนะแล้ว 2-3 วัน อาการยังไม่ทุเลา แสดงว่าเชื้อแบคทีเรียอาจจะดื้อยาที่กินอยู่
2. มีอาการปวดหู และหูอื้อไม่ค่อยได้ยิน อาจจะหูอักเสบ
3. ปวดโพรงจมูกอย่างมาก อาจจะมีโรคไซนัสอักเสบ
4 มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจเร็ว เสมหะมาก ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเป็นอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง
5. มีไข้ ตัวร้อน นานกว่า 1 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นที่ทราบว่าโรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่ไข้จะหายภายใน 1 สัปดาห์ จึงต้องให้หมอหาสาเหตุอย่างอื่น
6. มีอาการเจ็บคอมากเกิน 3 วัน เนื่องจากบางคนอาจมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบร่วมด้วย ซึ่งไข้หวัดทั่วไปการเจ็บคอจะเป็นมาก ๆ วันแรก ๆ แล้วค่อยทุเลาลง ส่วนต่อมทอนซิลอักเสบจะเจ็บคอมากขึ้นเรื่อย ๆเราป้องกันหวัดอย่างไร
โรคไข้หวัดเป็นโรคที่ป้องกันได้วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงจากคนที่เป็นไข้หวัด ซึ่งดูง่ายแต่ทำยากมาก เนื่องจากคนเป็นโรคนี้กันมาก โดยระวังการไอหรือจามรดหน้ากัน และล้างมือทุกครั้งก่อนจับจมูกหรือขยี้ตา เพราะเป็นช่องทางที่ติดเชื้อหวัด นอกจากนี้ คือการรักษาความแข็งแรงของร่างกาย เช่น ออกกำลังกายพอประมาณ นอนพักผ่อนเพียงพอ เป็นต้นไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่งต่างจากที่ทำให้เกิดไข้หวัดทั่วไป อาการคล้ายกัน แต่มีไข้สูงกว่า ปวดเมื่อยตัวมากกว่า อ่อนเพลียมากกว่า หายช้ากว่า การดูแลรักษาและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนก็ช้แนวทางเดียวกันกับการรักษาไข้หวัดโดยทั่ว ๆ ไป
ในกรณีที่มีไข้สูงมากบางครั้ง กินยาลดไข้แล้วไข้ก็ยังสูงอยู่ วิธีการแก้ไขคือ การใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวครับ ใช้น้ำก๊อกธรรมดาก็ได้ ชุบผ้าหมาด ๆ เช็ดตัวไปเรื่อย ๆ จนกว่าไข้จะลง เช็ดตามซอกคอ ซอกแขน ซอกขา หน้าผาก จำง่าย ๆ คือ ที่ตรงไหนร้อนมากก็เช็ดตรงนั้น หากผ้าเริ่มร้อนต้องชุบน้ำใหม่ครับ เมื่อตัวเย็นก็เลิก ไข้สูงก็เริ่มเช็ดใหม่
โรคไข้หวัดเป็นง่าย หายง่ายและติดซ้ำใหม่ได้เรื่อย ๆ การดูแลรักษาในกรณีที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนนั้นไม่ยาก เพราะเป็นโรคที่หายเองอยู่แล้ว การระวังป้องกันถ้าทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น