วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การทอดผ้าไหม

การทอผ้าไหม article
 ความเป็นมาของผ้าไหม
   ไหม เป็นแมลงประเภทผีเสื้อตัวหนอนไหม กินพืชได้หลายชนิด แต่ชอบกินใบหม่อนมากที่สุด ทว่าหม่อนจัดเป็นพืชยืนต้นซึ่งเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านที่เลี้ยงไหม จึงมักปลูกสวนหม่อนควบคู่ไปด้วยอยู่เสมอ เชื่อกันว่ามนุษย์เริ่มเลี้ยงไหมเป็นครั้งแรก ในประเทศจีนเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว วงจรชีวิตของไหมประกอบด้วย ระยะที่เป็นไข่ ระยะตัวหนอน ระยะดักแด้ และระยะผีเสื้อ คุณสมบัติพิเศษของตัวไหมคือ ช่วงระะยะซึ่งเป็นดักแด้ ตัวหนอนจะสร้างรังไหมห่อหุ้มตัวเอง และรังไหมนี่เองที่สามารถสาวออกมาเป็นเส้นใยเส้นเล็กๆ ซึ่งมีความเหนียว และเป็นมันวาวสวยงาม เหมาะต่อการนำไปทอเป็นผืนผ้า


 วิวัฒนาการทอผ้าในไทย
   แม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดมาใชอธิบายเรื่องจุดกำเนิดของการทอผ้าในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การทอผ้าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้รู้จัก และทำขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ 
   ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่นที่ เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี อายุประมาณ 2,500 ปี มาแล้ว มีรูปมนุษย์โบราณกับสัตว์เลี้ยง เช่น ควาย และ สุนัขแสดงว่ามนุษย์ยุคนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์แล้ว ลักษณะการแต่งกายของมนุษย์ยุคนั้นดูคล้ายกับจะเปลือยท่อนบน ส่วนท่อนล่างสันนิษฐานว่าจะ ใช้หนังสัตว์หรือผ้าหยาบๆ ร้อยเชือกผูกไว้รอบๆ สะโพก บนศีรษะประดับด้วยขนนก
   จากภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่พบ บริเวณถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุประมาณ 7,000-8,000 ปีมาแล้ว พบว่ามีการตกแต่งด้วยรอยเชือก และรอยตาข่ายทาบ ทำให้เราสันนิษฐาว่า มนุษย์น่าจะรู้จักทำเชือกและตาข่ายก่อน โดยนำพืชที่มีใยมาฟั่นให้เป็นเชือก แล้วนำเชือกมาผูก หรือถักเป็นตาข่าย จากการถักก็พัฒนาขึ้นมาเป็นการทอด้วยเทคนิคง่ายๆ แบบการจักสานคือนำเชือกมาผูกกับไม้หรือยึดไว้ให้ด้ายเส้นยืนแล้วนำเลือกอีกเส้นหนึ่งมาพุ่งขัดกับด้ายเส้นยืน เกิดเป็นผืนผ้าหยาบๆ ขึ้น เหมือนการขัดกระดาษหรือการจักสาน เกิดเป็นผ้ากระสอบ แบบหยาบๆ
   เราค้นพบหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดี ที่บริเวณ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เช่น พบกำไล สำริด ซึ่งมีสนิม และมีเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิมนั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สนิมเป็นตัวกัดกร่อนโลหะ ซึ่งเป็นอนินทรียวัตถุ แต่กลับเป็นตัวอนุรักษ์ผ้า ซึ่งเป็นอินทรียวัตถุไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ที่แหล่งบ้านเชียงนี้ เรายังพบแวดินเผาซึ่งเป็นอุปกรณ์การปั่นด้ายแบบง่ายๆ และพบลูกกลิ้งแกะลายสำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเชียงเมื่อ 2,000-4,000 ปีมาแล้ว รู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายลงบนผ้าอีกด้วย


ประวัติผ้าไหมในประเทศไทย
   ผ้าไหมไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกาย ที่สืบสานกันมากว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยมีแหล่งสำคัญอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ขยายไปยังภาคเหนือตอนบน จนปัจจุบันได้แพร่กระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศซึ่งมีความแตกต่างกันในลวดลายตามเชิงความคิดและวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงฟื้นฟูไหมไทย วัสดุธรรมชาติที่ทรงคุณค่าทางเศรษฐกิจ คงไม่มีสิ่งใดเทียบเท่าเส้นใยไหมที่ทำให้ได้สิ่งทอที่สวยงาม ดังเช่นผ้าไหมไทยที่มีความงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนมีชื่อเสียงลือไปทั่วโลก การผลิตไหมในประเทศไทยได้เริ่มพัฒนาขึ้น เมื่อรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูส่งเสริมและพัฒนาการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหม จนปัจจุบันการผลิตไหมในประเทศไทยเป็นการสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชากร

   การเลี้ยงไหมและทอผ้าในภาคอีสาน จากสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตฯ กล่าวว่า สมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2360 ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ขุนนางชาวเวียงจันทน์ชื่อนายแลเป็นหัวหน้านำชาวลาวข้ามโขงมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเนินอ้อม (เมืองชัยภูมิ) นายแลและพวกมี ความชำนาญในการเลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหม ต่อมาได้เอาใจออกห่างจากนครเวียงจันทน์และหันมาสวามิภักดิ์ต่อไทยในสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) นายแลได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ แต่ได้ถึงแก่กรรมก่อนจะสร้างเมืองเสร็จ ชาวเมืองจึงปลูก ศาลขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายแลผู้บุกเบิกสิ่งทอไทย ศาลนี้มีชื่อว่า "ศาลเจ้าพ่อพระยาแล" จึงเป็นที่เข้าใจว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า ไหมได้แพร่หลายไปทั่วภาคอีสานของไทย ตั้งแต่นั้นมา


วิธีการทอผ้าไหม


   ปัจจุบัน ถึงแม้ว่ายังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดบ่งบอกถึงต้นกำเนิดของการ ทอผ้า แต่ก็สามารถเทียบเคียงกับหลักฐานอื่น ๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันโดย มีเหตุผลหลายอย่างสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การทอผ้ามีวิวัฒนาการมาจากการ ทำเชือก ทอเสื่อ และการจักสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลายเชือกทาบที่ปรากฏ ร่องรอยให้เห็นบนภาชนะดินเผา ซึ่งพบเป็นจำนวนมากตามแหล่งโบราณคดี ก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ เรื่อยมาจนถึงแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เอง จึงกล่าวได้ว่าการทอผ้าเป็นงานหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง

   หลักของการทอผ้า ก็คือการทำให้เส้นด้ายสองกลุ่มขัดกัน โดยทั้งสอง พวกตั้งฉากกัน เส้นด้ายกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ด้ายยืนและอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ด้ายพุ่ง ลักษณะของการขัดกันของด้ายพุ่งและด้ายยืน จะขัดกันแบบธรรมดาที่เรียกว่าลายขัดหรืออาจจะเพิ่มเทคนิคพิเศษเพื่อให้ผ้ามีลวดลาย สีสันที่สวยงามแปลกตา


ขั้นตอนในการทอผ้าไหม

1. สืบเส้นด้ายยืนเข้ากับแกนม้วนด้ายยืน และร้อยปลายด้ายแต่ละเส้นเข้าในตะ กอแต่ละชุดและฟันหวี ดึงปลายเส้นด้ายยืนทั้งหมดม้วนเข้ากับแกนม้วนผ้าอีกด้านหนึ่ง ปรับความตึงหย่อนให้พอเหมาะ กรอด้ายเข้ากระสวยเพื่อใช้เป็นด้ายพุ่ง
2. เริ่มการทอโดยกดเครื่องแยกหมู่ตะกอ เส้นด้ายยืนชุดที่ 1 จะถูกแยก ออกและเกิดช่องว่าง สอดกระสวยด้ายพุ่งผ่าน สลับตะกอชุดที่ 1 ยกตะกอชุดที่ 2 สอดกระสวยด้ายพุ่งกลับ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ
3. การกระทบฟันหวี ( ฟืม ) เมื่อสอดกระสวยด้ายพุ่งกลับก็จะกระทบ ฟันหวี เพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกัน ได้เนื้อผ้าที่แน่นหนา
4. การเก็บหรือม้วนผ้า เมื่อทอผ้าได้พอประมาณแล้วก็จะม้วนเก็บในแกนม้วนผ้า โดยผ่อนแกนด้ายยืนให้คลายออก และปรับความตึงหย่อนใหม่ให้พอเหมาะ


การทอผ้าพื้น

   เป็นการใช้หลักการทอผ้าเบื้องต้น ที่นำเอาด้ายเส้นยืนและด้ายเส้นพุ่งมาขัดกัน เพื่อให้เกิดเป็นผืนผ้า โดยด้ายเส้น พุ่งและเส้นยืนอาจเป็นด้ายสีเดียวกัน หรือต่างสีกัน หรือนำเอาเส้นด้ายที่เป็นดิ้นเงินหรือดิ้นทองมาทอควบด้าย เพื่อให้ผ้า มีความมันระยับ สวยงามยิ่งขึ้น


เทคนิคพิเศษที่ใช้ในการทอผ้า

   การขิด
ขิด หมายถึง กรรมวิธีในการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ขึ้นมา โดยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษในระหว่างการ ทอ เพื่อให้เกิดลวดลายที่โดดเด่นกว่าสีพื้น วิธีการทำคือ ใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิด เพื่อช้อนเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายพุ่ง ไปตามแนวที่ถูกจัดช้อน จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งนี่เอง ที่ทำให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ

   การจก เป็นเทคนิคการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ โดยเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษสอดขึ้นลง วิธีการคือ ใช้ขนเม่น ไม้ หรือนิ้ว สอดเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นลวดลายเป็นช่วง ๆ สามารถทำสลับสีลวดลายได้หลากสี ซึ่งจะแตกต่างจากการขิดตรงที่ขิดที่เป็นการใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียงสีเดียว การทอผ้าวิธีจกใช้เวลานานมากมักทำ เป็นผืนผ้าหน้าแคบใช้ต่อกับตัวซิ่น เรียกว่า “ ซิ่นตีนจก ”


การทอผ้ามัดหมี่ 
   ผ้ามัดหมี่มีกรรมวิธีการทอผ้าที่ใช้เทคนิคการมัดและการย้อม เริ่มจากนำเส้นด้ายหรือไหมมาย้อมสีแล้วมัดบริเวณที่ ต้องการเก็บไว้ เมื่อนำไปย้อมสีอื่นจะได้ไม่ติดสี เพียงซึมเข้ามาบางส่วน โดยย้อมเรียงลำดับจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบ ตามลวดลายที่กำหนด หลังจากนั้นจึงนำด้ายกรอเข้าหลอดตามลำดับ แล้วนำไปทอจะเกิดลวดลายบนผืนผ้าที่มีลักษณะคลาดเคลื่อนเหลื่อมล้ำ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมัดหมี่ การทอผ้าชนิดนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญในการมัดย้อมและทอเป็นอย่างมาก ผ้ามัดหมี่มีอยู่หลายชนิด ได้แก่

   1. มัดหมี่เส้นพุ่ง
   2. มัดหมี่เส้นยืน
   3. มัดหมี่เส้นพุ่งและเส้นยืน


การทอผ้ายก

   เป็นกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายโดยการยกตะกอแยกด้ายเส้นยืน และในบางครั้งการยกดอกจะมีการเพิ่มด้ายเส้น พุ่งจำนวนสองเส้น หรือมากกว่านั้นเข้าไปในผืนผ้า ลวดลายที่ทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางศาสนา ซึ่งได้แก่ ลายปราสาท ลานธรรมาสน์ ลายสัตว์ ลายพืช ลายจากสิ่งของเครื่องใช้ และลายเรขาคณิต
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น